เส้นทางวิบากอุตฯ เหล็กไทย กว่า 20 ปียังวนเวียนปัญหาเดิม!

31 มีนาคม 2559
เส้นทางวิบากอุตฯ เหล็กไทย กว่า 20 ปียังวนเวียนปัญหาเดิม!

ปฎิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมเหล็กไทยกว่า 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาที่เผชิญอยู่ ยังคงวนเวียนในเรื่องเดิมๆ เพียงแต่ระดับปัญหารุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันกับเหล็กนำเข้าจากประเทศต่างๆ ขณะที่มาตรการรับมือในการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ ยังเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันการณ์ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) หรือการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อเป็นเกราะคุ้มครองผู้ผลิตไทย ที่ประกาศออกมาไม่ทันท่วงทีกับกับปัญหาที่เผชิญอยู่

ยังปกป้องไม่ครอบคลุม

อีกทั้งที่ผ่านมาแม้จะมีมาตรการปกป้องผู้ผลิตเหล็กบางประเภทออกมาแล้ว แต่พอปกป้องเหล็กต้นน้ำ เหล็กกลางน้ำก็กระทบ ลามผู้ผู้ผลิตเหล็กปลายน้ำ สุดท้ายผลก็ตกมาถึงผู้บริโภคปลายทางที่ต้องแบกภาระจากการซื้อเหล็กในราคาที่สูงขึ้น หรือมีข้อจำกัดมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมายังไม่ได้ช่วยเหลือแบบครอบคลุมทั่วถึง เพราะเวลานี้เหล็กบางกลุ่ม ก็ยังแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่การใช้วัตถุดิบในประเทศก็ยังมีข้อจำกัดด้านสเปก อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับการนำเข้า

จากปัญหาเหล่านี้ยังไม่นับรวมถึงแรงสั่นคลอนจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา หลายประเทศเศรษฐกิจภายในไม่ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ยิ่งเป็นตัวเร่งที่ทำให้ปริมาณเหล็กจากประเทศผู้ผลิตสำคัญและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เช่น จีน ต้องหาทางออกในการระบายเหล็กออกสู่ตลาดโลกมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะกำลังพัฒนาประเทศ เปิดช่องให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และระบบโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น

โดยล่าสุดข้อมูลจาก สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT) ระบุว่า สถิติปี 2558 จีนมีกำลังผลิตเหล็กจริงจำนวน 800.52 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กในจีนมีราว 748.96. ล้านตันต่อปี ทำให้มีเหล็กส่วนเกินอยู่ที่ 51.56 ล้านตันต่อปี และเมื่อรวมกับสะต๊อกเก่าของจีนอีกราว 58.04 ล้านตัน จึงมีเหล็กส่วนเกินรวมทั้งสิ้นจำนวน 109.6 ล้านตันต่อปี ในส่วนนี้ระบายมายังอาเซียนมากถึง 40 ล้านตัน อีกราว 60 ล้านตัน จีนกระจายส่งออกไปยังอเมริกา ตะวันออกกลาง รัสเซียและยุโรป และประเทศอื่นๆ

กระทบต่อเนื่องทำผลิตลดฮวบ

เมื่อติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเหล็กจะพบว่า ปัญหาเริ่มสุกงอมมากขึ้น นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ครั้งนั้นทำเอากูรูวงการเหล็ก หรือกลุ่มนายทุนไทย ผู้เปิดตำนานอุตสาหกรรมเหล็กไทยในยุคต้นๆ ต้องถอดใจลาวงการไป ส่วนรายที่เหลืออยู่บางรายก็อยู่ในฐานะผลดำเนินกิจการไม่สู้จะดีนัก เพราะยังแบกขาดทุนต่อเนื่อง เมื่อถูกซ้ำเติมจากพิษเศรษฐกิจโลก ทุบราคาเหล็กร่วงอย่างแรงในช่วงปี 2557 ต่อเนื่องปี 2558 จวบกับตลาดในประเทศไม่ขานรับ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานรัฐยังไม่ขยับตัวดังที่หวัง อีกทั้งเจอกระแสเหล็กจีนฮุบตลาดหนักข้อขึ้นในปี 2558 ถึงปัจจุบัน ยิ่งทำให้การบริโภคเหล็กจากผู้ผลิตภายในประเทศชะลอตัวลง จากกำลังการผลิตที่เคยทำได้ไม่ต่ำกว่า 50% ก็ผลิตได้เพียง 20-30% เท่านั้น

สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล
ประธาน กิตติมศักดิ์
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย
และผู้ก่อตั้งบริษัทกลุ่มบริษัท จี สตีล ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน

 

ต่อเรื่องนี้ ดร. สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธาน กิตติมศักดิ์ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และผู้ก่อตั้งบริษัทกลุ่มบริษัท จี สตีล ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน กล่าวยอมรับว่า ผู้ประกอบการไทยเดือดร้อนจากการทุ่มตลาดเหล็กจากจีนมาก โรงงานในจีนบางแห่งนอกจากไม่เข้มงวดแล้ว ยังไม่ปิดโรงงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ แถมรัฐบาลยังอุดหนุนการส่งออกอีก ทำให้มีเหล็กจากจีนระบายออกสู่ตลาดโลกกว่า 100 ล้านตันต่อปี เฉพาะประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศในการนำเข้าเหล็กปีละหลายแสนล้านบาท ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นเพราะเราผลิตได้เอง

“ทุกวันนี้ผู้ประกอบการไทย ยังประคองตัวอยู่ได้ เพราะมีการปรับตัว ยกระดับคุณภาพเหล็กให้แข่งขันได้ เพื่อหนีตลาดเหล็กคุณภาพต่ำราคาถูก ขณะที่ภาครัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม เริ่มเข้มงวดมากขึ้น ในการดำเนินการเรื่องการปกป้องและการกำหนดมาตรฐานเหล็กทุกชนิด”

วิน วิริยะประไพกิจ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)

 

ชง”อรรชกา”คุมตั้งรง.เหล็ก

ด้านนายวิน วิริยะประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยต่อสื่อก่อนหน้านี้ว่า ในฐานะตัวแทนสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย วันที่ 31 มีนาคมนี้ 7 สมาคมเหล็กจะเข้าพบ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงยุทธศาสตร์เหล็กระยะยาว เพื่อให้ไทยก้าวเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเหล็กในอาเซียน รวมทั้งเสนอให้มีการควบคุมการจัดตั้งโรงงานเหล็กบางประเภท เพื่อให้มีความเหมาะสม เช่น เหล็กเส้นขณะนี้ ไทยผลิตได้ 7 ล้านตันต่อปี แต่ความต้องการใช้ในประเทศมีเพียง 2-3 ล้านตันต่อปี ทำให้เหล็กล้นตลาดอยู่มาก

เหล็กขั้นปลายสะเทือน

ขณะที่กลุ่มเหล็กขั้นปลายน้ำ นายนฤนารถ อัตตสัมพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท คอทโก้ เมททอลเวอร์คส จำกัด หรือ CCM หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายท่อเหล็กและศูนย์บริการเหล็กชั้นนำของประเทศ ที่มีปัญหา เนื่องจากมีท่อเหล็กนำเข้าในพิกัด 7306.1910 ซึ่งเป็นท่อสำหรับอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน ที่นำเข้าบางส่วนเลี่ยงพิกัดจากท่อโครงสร้างทั่วไปเข้าพิกัดดังกล่าวเพื่อเลี่ยงภาษีจาก 5% เป็น 1% (กรณีนำเข้าจากประเทศจีนใช้สิทธิ form E เสียภาษี 0%) ทางสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่นกำลังทำหนังสือแจ้งกรมศุลฯให้มีการตรวจสอบเอกสารนำเข้าอย่างเข้มงวด โดยการคัดกรองผู้นำเข้าจริงกับผู้นำเข้าเพื่อสำแดงเลี่ยงพิกัด

สมอ. จับมือ 7 สมาคมเหล็กแก้ปัญหา

จากปัญหาดังกล่าว ล่าสุด สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หารือกับ 7 สมาคมผู้ประกอบการเหล็ก ประกอบด้วย 1. สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย 2. สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย 3. สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น 4. สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า 5. สมาคมการค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี 6. สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน 7. กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพื่อแก้ปัญหาเหล็กในประเทศ โดย สมอ. จะเร่งรัดจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใหม่จำนวน 24 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานบังคับที่นำมาทบทวน และเร่งรัดให้แล้วเสร็จก่อนภายในเดือนกันยายนนี้ จำนวน 7 มาตรฐาน เช่น เหล็กกล้าคาร์บอนรีดร้อน (มอก.1479-2541) เหล็กลวดคาร์บอนต่ำ (มอก.348-2548) เหล็กคาร์บอนทรงแบนรีดร้อน (มอก.528-2540) เป็นต้น และมาตรฐานทั่วไปนำมาทบทวนเป็นมาตรฐานบังคับ 9 มาตรฐาน เช่น ท่อเหล็กกล้าไร่สนิม และมาตรฐานกำหนดใหม่อยู่ระหว่างจัดทำ 2 มาตรฐาน เช่นเหล็กกล้าไร่สนิม ออสเทนไนต์ สำหรับงานตกแต่ง ส่วนที่เหลือเป็นมาตรฐานทั่วไป

นอกจากนี้ทั้ง 2 ฝ่ายยังร่วมกันจับคู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พิกัดศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ พบว่าทุกสินค้าเหล็กยังมีพิกัดที่อยู่นอกเหนือขอบข่ายมาตรฐาน ซึ่งอาจเกิดการหลบเลี่ยงการขออนุญาต มอก.ได้ ซึ่งเรื่องนี้สมอ.แก้ไขปัญหาโดยเตรียมการเปิดใช้ National Single Window ในส่วนของการอนุญาตนำเข้าภายในเดือนกันยายนนี้ ร่วมทั้งการพิจารณาแก้ไขระเบียบการขอใบอนุญาต และการขออนุญาตนำเข้าเพื่อใช้เอง


ธวัช ผลความดี
เลขาธิการสมอ.

ต่อเรื่องนี้นายธวัช ผลความดี เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า การที่ สมอ.จับมือกับ 7 สมาคมเหล็ก เริ่มจากที่ได้รับมอบหมายนโยบายมาจาก ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีความเป็นห่วงว่า หากเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยมากขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคไม่ปลอดภัยได้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ สมอ. ต้องปรับใหญ่มาตรฐานเหล็ก นำมาตรฐานทั่วไป 24 มาตรฐานมาเป็นมาตรฐานบังคับและบางมาตรฐานที่บังคับอยู่แล้วก็มาปรับปรุงเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการเหล็กจาก 7 สมาคมก็ติดตามการกำหนดมาตรฐานบังคับมาอย่างต่อเนื่อง และร่วมหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมมาเป็นระยะ




แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.